สุขภาพ ความปลอดภัย ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อม (Health, Safety, Security and Environment - HSSE)
ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ISO 45001
(ISO / DIS 45001) Occupation & health and safety management system.
ความปลอดภัย สุขภาพอนามัยและความผาสุขของผู้ปฎิบัติงาน เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะมนุษย์เป็นเป็นทรัพยากรที่มีค่าสูงสุดขององค์กรอีกทั้งในปัจจุบันกระบวนการผลิตมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นและอันตรายหลายอย่างมองเห็นได้ยาก และเป็นปัจจัยในการบั่นทอน สมรรรถนะของผู้ปฏิบัติงาน
การบริหารจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย อย่างมีระบบและมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องโดยมีการสอดคล้องเชื่อมโยงกับทุกกระบวนการ (Process) ในระบบงาน (Work system) เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพราะในการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง จะนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งด้านคน (People loss),ด้านทรัพย์สิน (Property loss) และกระบวนการผลิต (Process loss) ซึ่งหากประเมินเป็นมูลค่าแล้วนับว่าเป็นตัวเลขมหาศาลและยังมีความสูญเสียอีกหลายประการที่ยากจะประเมินเป็นตัวเงินได้ เช่น ภาพพจน์ขององค์กร โอกาสในการแข่งขันในอนาคตขององค์กร เป็นต้น
การพัฒนาระบบของการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
ในการบริหารจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยได้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบประเทศ อังกฤษ โดย British standard institute (BSI) ได้กำหนดมาตรฐาน BS8800 Guide to Occupational Health and Safety Management System โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้องค์กรได้ใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการความปลอดภัย
นอกจากระบบดังกล่าวแล้ว องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ก็มีการพัฒนาระบบการจัดการ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ที่เรียกว่า ILO – OSHMS 2001 โดยมีจุดมุ่งหวังเพื่อปกป้อง คุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้มีความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยที่ดีตลอดจนมีสภาพการทำงานที่ปราศจากอันตราย
OHSAS 18001:2007 ก็เป็นระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่สถานประกอบการส่วนใหญ่ใช้ระบบดังกล่าว และได้รับการรับรอง จาก Certify Body ถ้าพิจารณาระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในทุกๆระบบแล้ว เห็นได้ว่าทุกระบบมีความคล้ายคลึงกัน แต่จะมีข้อกำหนดในรายละเอียดบางประการที่แตกต่างกันไปบ้าง
โดยสุรป อาจกล่าวได้ว่า ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย จะมี ต้นน้ำ มาจากกฏหมายและข้อกำหนดอื่นๆที่ องค์กรต้องปฏิบัติ กับความเสี่ยง (Risk) ต่างๆ ที่องค์ต้องเผชิญและต้องควบคุมอย่างเป็นระบบโดยทุกระบบ ผู้บริหารสูงสุด จะต้องแสดงบทบาทภาวะผู้นำในการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ถ้าเรามองเป็นกระบวนการแล้วทุกระบบก็จำเป็น วงจร PDCA (Plan Do Check Act) โดยมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continual Improvement) ระบบการจัดการที่ดี จะมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับทุกระบบงานองค์กรเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายและวิสัยทัศน์ขององค์กร
ISO 45001 (Occupational Health and Safety Management Systems)
ISO 45001 นับว่าเป็น ISO ฉบับแรกที่เป็นมาตรฐานสากลของระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยปัจจุบันเป็น ฉบับร่างอยู่ (ISO / DIS 45001) แต่คาดว่าจะออกมาเป็นฉบับที่มีความสมบูรณ์ ภายในปลาย ปี พ.ศ. 2560 หรือ ช่วงต้นปี พ.ศ.2561 เป็นอย่างช้าซึ่งหาก ISO 45001 ฉบับสมบูรณ์ออกมาสถานประกอบการต่างๆ ที่ใช้ OHSAS 18001 : 2007 ก็คงมีการปรับปรุงระบบการจัดอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเพื่อรองรับ ISO 45001 ในอนาคต หากเรามาศึกษาในรายละเอียดของข้อกำหนดในร่างฉบับนี้พบว่า มีความคล้ายคลึงกับ OHSAS 18001:2007 และมีความชัดเจน โดยมีการเขียนข้อกำหนดในหลายประเด็นให้ชัดเจนยิ่งขึ้นและที่สำคัญการบริหารจัดการ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยจะต้องให้สอดคล้องกับบริบทขององค์กร (Context of organization) โดยมีหัวใจที่เป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ คือ ความเป็นผู้นำของผู้บริหารสูงสุดและการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน (Leader ship and worker participation) ซึ่งจะทำระบบการจัดการให้เกิดความมั่นคง ยืดหยุ่นและมีความต่อเนื่องอันจะนำไปสู่ เป้าหมายสูงสุด คือ ความปลอดภัย สุขภาพอนามัย และความผาสุข อย่างยั่งยืน ตลอดไป